ฝ่ายบุคคลและผู้ประกอบการ | 30 August 2023

ว่าด้วยเรื่องระบบอาวุโส ที่คนรุ่นใหม่ขอ Say No ดีกว่า

“เด็กสมัยนี้…”

เป็นวลีที่พอเหล่าคนรุ่นใหม่ไฟแรงได้ยินต่างก็ต้องกลอกตากันเป็นแถว เพราะสิ่งที่ตามมาย่อมไม่พ้นการตำหนิในเรื่องที่ไม่ได้ทำผิดอะไรแต่อาจจะไม่ถูกใจผู้ใหญ่เท่าไหร่นักด้วยความที่พวกเขาอายุน้อยกว่า ซึ่งเป็นผลมาจาก “ระบบอาวุโส” ในองค์กรที่แค่ฟังชื่อก็ทำเอาอยากวิ่งหนี วันนี้ WorkVenture จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการทำงานที่อยู่คู่คนไทยมาแสนนานและร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่อยากทำงานในระบบนี้

 


 

ระบบอาวุโสคืออะไร?

ระบบอาวุโส (Seniority System) คือ ระบบที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอายุเป็นหลัก ผู้น้อยจะต้องมีความนอบน้อมและให้การเคารพผู้ใหญ่อยู่เสมอ ถือเป็นขนบธรรมเนียมที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างช้านานและพบได้แพร่หลายในทุกระดับสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว การศึกษา ไปจนถึงการทำงาน โดยงานวิจัยชื่อ Seniority Culture: Global Company in Thailand ในปี 2018 ระบุว่า ไม่ใช่แค่ในองค์กรสัญชาติไทยเท่านั้นที่สามารถพบลักษณะการทำงานแบบระบบอาวุโส แต่องค์กรต่างชาติที่มีสาขาอยู่ในประเทศไทยก็มีการใช้ระบบนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวทางวัฒนธรรมเพื่อให้สามารถกลมกลืนไปกับสังคมส่วนใหญ่ได้

 

ระบบอาวุโสดีจริงหรือ ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงส่ายหน้า

การมีอยู่ของระบบอาวุโสในแวดวงการทำงานเป็นรากฐานขององค์กรเก่าแก่มากมายมาจนถึงปัจจุบัน พนักงานชั้นอาวุโสที่อยู่มาตั้งแต่ยุคบุกเบิกของบริษัทจึงคุ้นชินและบางคนก็เห็นข้อดีของการทำงานในระบบนี้ เช่น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานแน่นแฟ้น เพราะทุกคนคือครอบครัวที่พร้อมจะสามัคคี ช่วยเหลือ และทุ่มเทให้แก่กันเสมอ อีกทั้งบางคนก็มองว่า หากขาดขาดระบบอาวุโส พนักงานก็จะมองเห็นแค่ความสำเร็จของตัวเองมากกว่าของทีม

อย่างไรก็ตาม แม้พนักงานอาวุโสหลายคนจะเห็นด้วย แต่ผลสำรวจของบริษัท PwC ในปี 2021 เผยว่า ระบบอาวุโสทำให้เกิดช่องว่างมากมายในการทำงานระหว่างพนักงานต่างวัย เพราะในขณะที่คนระดับอาวุโส โดยเฉพาะกับผู้บริหารองค์กรมองว่าตัวเองเป็นต้นแบบให้กับพนักงานมากมาย ช่วยขับเคลื่อนคุณค่าขององค์กร และเปิดกว้างต่อการพูดคุยถกเถียงในประเด็นอ่อนไหวต่าง ๆ แต่พนักงานระดับกลางไปจนถึงล่างกลับไม่รู้สึกแบบนั้นเลย

ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานระดับอาวุโสหลายคนก็ “เหยียดอายุ” และมองคนรุ่นใหม่ขององค์กรในแง่ลบ เช่น ไม่เคารพผู้อื่น หัวรุนแรง ไม่สู้งาน ต้องคอยประคบประหงม เป็นต้น ด้วยความต่างของแนวคิดและประสบการณ์ที่ทำให้คนต่างวัยยากจะเข้าใจกันเช่นนี้ ในมุมมองของคนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงเห็นว่าระบบอาวุโสนั้นไม่ตอบโจทย์และมีข้อเสียมากมาย เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้าง


เพราะระบบอาวุโสเป็นแบบนี้ เห็นทีต้องบอกลา

  • ไม่ไว้ใจคนรุ่นใหม่ เพราะมองว่าพวกเขามักเป็นกลุ่มคนที่อายุยังน้อยและอ่อนประสบการณ์ หลายองค์กรที่มีระบบอาวุโสเข้มข้นจึงไม่เห็นคุณค่าของไอเดียที่คนรุ่นใหม่คิดขึ้นมา อาจมองว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีประสิทธิภาพแม้จะยังไม่ได้ลองทำดูก็ตาม หรืออาจถึงขั้นมองว่าเป็นการข้ามหน้าข้ามตาคนที่อยู่มาก่อนก็ได้ เมื่อโดนปฏิเสธมากเข้าก็ทำให้ไม่กล้าเสนอความคิดเห็นอีก นำไปสู่การลดทอนกำลังใจของรุ่นใหม่ในภายหลังจนไม่เกิดการพัฒนา

 


 

  • ไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะการสื่อสารขององค์กรที่ทำงานด้วยระบบอาวุโสจะใช้ Top-down communication หรือการสื่อสารที่เริ่มจากผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าสู่พนักงานที่อยู่ในระดับล่างกว่า แม้มีข้อดีที่ทำให้ทุกคนสามารถมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารได้ตรงกัน แต่กลับใช้เวลานานในการส่งต่อข้อความ เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจ รายละเอียดอาจตกหล่นหรือถูกบิดเบือน อีกทั้งถ้าพนักงานสงสัยอะไรก็ไม่สามารถซักถามได้

  • เกิดความลำเอียง เพราะพนักงานอาวุโสบางคนก็ให้การสนับสนุนและรับฟังคนที่อยู่มาก่อนมากกว่าคนรุ่นใหม่ ทำให้คนที่ตั้งใจเข้ามาเพื่ออยากเติบโตในองค์กรบางคนต้องจำใจเอาตัวรอดด้วยการเอาใจพนักงานอาวุโสเหล่านั้นและมีความขัดแย้งกับพวกเขาให้น้อยที่สุด แม้บางเรื่องจะไม่ได้รู้สึกเห็นด้วยก็ตาม เพื่อให้ได้อยู่ในสายตาและได้รับความเอ็นดูในอนาคต แทนการตั้งใจสร้างผลงานมานำเสนอเพราะอาจถูกปัดทิ้งได้

 


 

  • บีบให้คนรุ่นใหม่เป็น Yes Man เพราะไม่อาจปฏิเสธภาระงานที่พนักงานอาวุโสโยนมาให้ทำได้ และบางคนก็กลัวจะขัดแย้งกับผู้ใหญ่จนลำบากตัวเองในภายภาคหน้าเลยเลือกที่จะยิ้มรับงานนั้นมาแม้ว่าจะมีงานล้นมืออยู่แล้วและได้ค่าตอบแทนเท่าเดิมก็ตาม ซึ่งอาจนำไปสู่การทำงานหนักจนเกินไป ไม่มีเวลาพักผ่อน และหมดไฟในการทำงานในที่สุด

  • ขาด Work Life Balance เพราะพนักงานอาวุโสบางคนก็มีแนวคิดเรื่อง “การทำงานที่ดี” แตกต่างกับคนรุ่นใหม่ เช่น คิดว่าควรอยู่ออฟฟิศเกินเวลางานเพราะแสดงถึงความขยัน หรือไม่ควรทำตัวชิว ๆ สบายเกินไปในเวลางานเพราะแสดงถึงความไม่กระตือรือร้น แม้ในความเป็นจริงคนรุ่นใหม่ในองค์กรอาจจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสร็จภายในกำหนดได้ ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อประเมินการทำงานที่อาจเต็มไปด้วยอคติของพนักงานอาวุโส

 


 

เมื่อคนรุ่นใหม่แอนตี้ระบบอาวุโส องค์กรควรปรับตัวยังไง

จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานอยู่ในระบบอาวุโสเกี่ยวข้องกับ “ความสบายใจ” เป็นส่วนใหญ่ เพราะในเมื่อองค์กรมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย อยู่ไปก็ไม่มีความสุข แถมมองไม่เห็นอนาคต การลาออกจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาเลือก เกิดเป็นคำถามให้องค์กรได้ย้อนกลับมาพิจารณาตัวเองเมื่อจำนวนพนักงานที่ลาออกมากกว่าครึ่งอาจเป็นคนรุ่นใหม่ 

โดยวิธีการปรับตัวสำหรับองค์กรนั้นไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายนั่นคือ “การเปิดใจ” และ “เปลี่ยน Mindset” ของพนักงานอาวุโส เพราะในความเป็นจริงแนวคิดที่ใช้ในการทำงานก็เกิดจากการขัดเกลาของสังคมยุคเก่าที่พวกเขาเติบโตมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่จะไม่เท่าทันโลกที่กำลังหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปเรื่อย ๆ ดังนั้นขอเพียงเปิดใจให้กว้าง ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็นและความสามารถอย่างเต็มที่ เท่านี้ก็จะสามารถดึงทาเลนต์มากมายให้มาร่วมงานและรักษาพนักงานรุ่นใหม่ให้อยู่กับองค์กรไปได้อีกนานเลยล่ะ

 

ระบบอาวุโสอาจเป็นแนวคิดที่เริ่มล้าหลังแล้วในปัจจุบันที่เริ่มมีคนรุ่นใหม่ก้าวเข้าสู่สังคมการทำงานอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานหรือแนวคิดของพนักงานอาวุโสที่อยู่กับองค์กรมานานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้จะต้องใช้ระยะเวลานานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ผลลัพธ์ย่อมคุ้มค่าแน่นอนกับการลงทุนในคลื่นลูกใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวขึ้นไปสู่อีกระดับอย่างที่คุณไม่อาจจินตนาการถึง