ฝ่ายบุคคลและผู้ประกอบการ | 5 July 2022

ทำอย่างไรดี ? เมื่อพนักงาน Say No กับการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศหลังโควิด


เชื่อว่าตั้งแต่พวกเราได้ใช้ชีวิตกับโควิดมานานกว่า 2 ปี  หลายๆ ตอนนี้หลายๆบริษัทก็ได้ให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแล้ว แต่จากการศึกษาของ Ivanti พบว่า พนักงานกว่า 87% ไม่อยากกลับมาทำงานในออฟฟิศอีกต่อไป  WorkVenture จึงจะขอพาคุณไปสำรวจกันหน่อยว่า การต่อต้านการกลับมาทำงานในออฟฟิศนั้นเกิดขึ้นจากอะไร และควรต้องทำอย่างไรกับสถานการณ์เหล่านี้

 

 

สาเหตุที่พนักงานไม่อยากกลับมาทำงานที่ออฟฟิศเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ มาตรการความปลอดภัยทางสุขภาพ Work-Life balance การบริหารเงินและเวลา บรรยากาศการทำงานในออฟฟิศแบบเปิด ความเป็นอิสระ และความไว้วางใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจากการทำงานที่บ้านหรือที่เราเรียกกันจนชินปากว่า Work from home ที่ทำให้ชีวิตประจำวันของเหล่าพนักงานเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสร้างผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิต วิธีการคิด และจิตใจอย่างมาก แล้ว HR อย่างเราควรทำอย่างไรดีล่ะ

 

5 ขั้นตอนต่อไปนี้อาจช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้


 

1. ไม่เรียกร้องและตั้งคำถาม 

การเรียกร้องและตั้งคำถามเกี่ยวกับการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศจาก HR จะทำให้พนักงานของคุณรู้สึกไม่อยากมาทำงานที่ออฟฟิศมากยิ่งขึ้น จากความรู้สึกของพวกเขาที่เหมือนผู้กระทำผิด ถูกจับจ้องและสงสัย ดังนั้นการไม่พยายามรีดเค้นคำตอบอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

 

2. สำรวจความคิดเห็นอย่างจริงใจ

การส่งข้อความสั้นๆ หรือสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอย่างจริงใจ และไม่สร้างความรู้สึกผิดหรือไม่สบายใจต่อพนักงานที่ไม่อยากทำงานในออฟฟิศ เสมือนเป็นการเปิดรับความคิดเห็นของพวกเขาอย่างเต็มที่ วิธีนี้คุณก็จะได้รู้ว่าทำไมพนักงานของคุณถึงคิดเช่นนั้น และจะทำให้คุณสามารถออกแบบนโยบายที่เหมาะสมกับการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

3. พูดคุยกับพนักงาน

การลงไปพูดคุยกับพนักงานจะทำให้คุณได้รู้ว่า พวกเขามีปัญหาอย่างไรกับการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นเหตุผลทั่วๆ ไป แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น พวกเขาอาจมีปัญหาหรือเหตุผลมากกว่านั้น ซึ่งคุณจะรู้ได้จากการพูดคุยกับพนักงานอย่างเป็นกันเอง

 

 

4. ระบุปัญหา ประเมินความสามารถ

การลองถอยออกมาจากปัญหาอาจทำให้แก้ปัญหาได้ดีขึ้น ปัญหานี้ก็เช่นกัน อาจจะลองนั่งลิสต์ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้พนักงานไม่อยากกลับมาทำงานในออฟฟิศ วิธีนี้จะทำให้เห็นแนวทางแก้ไขมากขึ้น อีกทั้งยังสะท้อนไปถึงนโยบายและโครงสร้างของบริษัท ว่าควรจะเปลี่ยนแปลงไปในทางไหนได้อีกด้วย

5. เปลี่ยนแปลงเพื่อไปต่ออย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อคุณทราบถึงปัญหาแล้ว ก็จะสามารถดำเนินการแก้ไขได้ เช่น มีนโยบายการทำงานใหม่ๆ หรือ สร้างบรรยากาศของออฟฟิศที่ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บริษัทตามทันต่อโลกที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

สุดท้ายนี้ ถ้าคุณอยากให้พนักงานของคุณทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพหละก็ การสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังจึงจำเป็นอย่างมาก และอย่าลืมที่จะเปิดใจรับฟังพวกเขา แม้จะเป็นในเรื่องเล็กน้อยก็ตาม เพราะเมื่อพนักงานทุกคนมีความสุขในทำงาน บริษัทของคุณจะสามารถเอาชนะทุกอุปสรรคไปได้ด้วยดี


 

และนี้คือ 5 ขั้นตอนที่อาจช่วยให้สถานการณ์ที่พนักงานไม่อยากกลับมาทำงานที่ออฟฟิศดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามทุกอย่างควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะอย่าลืมว่าสถานการณ์โควิดกินเวลามาไม่น้อย เหล่าพนักงานจึงต้องการเวลาในการปรับตัวกลับมาทำงานที่ออฟฟิศด้วยเช่นกัน