คำแนะนำการหางาน | 1 June 2023

ตอบอย่างไรดี ถ้า HR ถามว่าทำไมถึงออกจากที่ทำงานเก่า?!

การจะได้งานใหม่ก็หมายถึงการลาออกจากงานที่เก่าด้วยเช่นกัน  เมื่อสัมภาษณ์ไปสักพักมักจะเจอคำถามน่าลำบากใจจากเหล่า HR ว่า “ทำไมคุณถึงออกจากที่ทำงานเก่า?” เพื่อหาสาเหตุที่พนักงานคนหนึ่งอยากลาออกจากที่ทำงานสักที่หนึ่ง นอกจากนี้ HR ยังต้องการรู้ว่าคุณคาดหวังอะไรจากที่ทำงานใหม่ ไปจนถึงคุณจริงจังหรือไม่กับการหางานในครั้งนี้ 

สำหรับหลายๆ คนอาจจะคิดว่าได้โอกาสล่ะ พูดถึงความแย่ของที่ทำงานเก่า เพื่อนร่วมงานขี้นินทา หรือแม้แต่เจ้านายงี่เง่า แต่การที่ตอบคำถามมีผลกับคะแนนและอาจเป็นไปได้ว่าจะไม่ได้งานหากพูดอะไรไม่ตรงใจผู้สัมภาษณ์ เราไม่ได้บอกให้คุณโกหก แต่การพลิกแพลงคำตอบให้เป็นสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์อยากได้ยินนั้นเป็นเรื่องของการสื่อสารที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยในทางจิตวิทยาพบว่าคนที่แสดงทัศนคติบวกแม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายมักส่งผลให้คนรอบข้างมีกำลังใจและมองพวกเขาในแง่ดีมากขึ้น

 


 

1. มองหาโอกาสที่ดีกว่า

คำตอบสุดคลาสสิคที่ถูกใช้ในการสัมภาษณ์งานมากที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายไม่ต้องอธิบายให้ยุ่งยาก โอกาสที่ดีกว่าจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าโดยที่ทำงานเก่าไม่สามารถให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในสายงาน การสร้างคอนเนคชั่นที่มีคุณภาพในที่ทำงานใหม่ หรือโอกาสในการร่วมงานกับบริษัทที่มีชื่อเชื่อง

 

2. ต้องการเปลี่ยนสายงาน 

บางครั้งการที่เราทำบางอย่างซ้ำๆ เดิมๆ ทุกวันเป็นเวลานาน ก็อาจเกิดอาการ Burn out หรือความรู้สึกอิ่มตัวได้ ดังนั้นการเปลี่ยนสายงานอาจตอบโจทย์มากกว่า จึงควรแสดงความน่าสนใจที่มีต่อสายงานใหม่ และแสดงให้เห็นว่าเรามีการพัฒนาความสามารถของตัวเองเพื่อที่จะทำงานในสายงานที่ต่างออกไปได้


 

3. อยากทำสิ่งที่ตัวเองถนัด

ในหลายๆ ครั้งบริษัทที่ลงประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งหนึ่ง พอถึงหน้างานจริงกลับให้ทำอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งนั้นไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่มีร่วมกันในตอนสัมภาษณ์งาน ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับบริษัทเล็กๆ ที่มี HR ไม่เข้าใจในบริบทของงานมากพอที่จะแยกความแตกต่างของงาน ที่มีลักษณะที่คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกันได้ ดังนั้นจึงควรสอบถามและแจ้งให้ชัดเจนตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์งาน

 

4. รู้สึกอิ่มตัวกับงานที่ทำอยู่

ทำงานที่เดิมมาหลายปี เรียนรู้งานทุกอย่างหมดแล้ว การตกอยู่ในสภาวะที่ไม่มีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นเวลานาน ทุกวันวนลูปซ้ำๆ อาจก่อให้เกิดภาวะอิ่มตัวได้ การหางานใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่อาจเป็นการดีกว่า 

 


 

5. Work-Life Balance

ในยุคที่เทรนด์ Work-Life Balance เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกเหนือจากเวลางานยังคงมีชีวิตส่วนตัวที่ต้องดูแลจัดการ ถ้างานกระทบต่อชีวิตส่วนตัวมากจนเกินไปอาจส่งผลสู่การเป็น Workahokic และภาวะหมดไฟได้ 

 

6. บริษัทปรับโครงสร้างองค์กร

มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน เงินเดือน รวมไปถึงการปลดพนักงานบางส่วน คุณอาจโชคร้ายเป็นหนึ่งในพนักงานที่ถูก Layoff ไม่ได้ไปต่อ ไม่ใช่เรื่องแปลกและเป็นเหตุผลที่ ‘ฟังขึ้น’ โดยไม่กระทบกับการตัดสินใจของผู้สัมภาษณ์

 

 

การลาออกจากงานไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล แต่เรื่องสำคัญคือการให้เหตุผลที่ดี เหมาะสม และไม่กระทบกับที่เก่าหรือภาพลักษณ์ของตนเอง  ที่สำคัญไม่ควรพูดแง่ลบถึงบริษัทเก่า ควรเน้นเหตุผลจำเป็นหรือความก้าวหน้าส่วนบุคคล

 
 
close
ลงทะเบียนกับ WorkVenture เพื่อค้นหางานใหม่ล่าสุดและอ่านรีวิวบริษัทจากผู้ทำงานจริง