ฝ่ายบุคคลและผู้ประกอบการ | 8 August 2019

ข้อดีของ Job Hopper เปลี่ยนงานบ่อยใช่ว่าไม่เก่ง!

 

มี HR หรือบริษัทหลายแห่งมองคนรุ่นใหม่ว่าไม่ค่อยทนงาน หรือเปลี่ยนงานบ่อย จนถึงขนาดมีคำเรียกคนที่เปลี่ยนงานบ่อย ๆ ว่า “Job Hopper” ซึ่งเมื่อไหร่ที่ HR เห็น Resume ของคนที่ทำงานครึ่งปีก็เปลี่ยนงานที หรือเปลี่ยนงานทุก ๆ 2 ปี อาจจะตัดใบสมัครนั้นออกไป ไม่เรียกมาสัมภาษณ์เพราะรู้สึกว่าต่อให้มาทำงานที่นี่ก็จะอยู่ไม่นาน และต้องเสียงบประมาณและเวลาในการสรรหาคนเข้ามาใหม่ แต่ WorkVenture อยากจะลองให้ดูเหตุผลของคนที่เปลี่ยนงานบ่อย ซึ่งก็เป็นมุมมองที่ HR น่าจะนำไปพิจารณาก่อนการตัดสินใจ

 

เหตุผลอะไร? ที่ HR ควรพิจารณา Job Hopper หรือคนที่เปลี่ยนงานบ่อย

เรื่องที่คนรุ่นใหม่ตั้งแต่คน Gen Y ถึง Gen Z เปลี่ยนงานบ่อยนั้น HR หลายคนคงเจอมาเองกับตัวและรู้สึกว่าหากจ้างงานเข้ามา ก็จะทำงานได้ไม่นาน แต่สำหรับคนรุ่นใหม่หลายคนแล้ว พวกเขามีความคิด มีไอเดียที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง ดังนั้นนอกเหนือไปจากเรื่องของเงินและสวัสดิการแล้ว โอกาสในการพัฒนาความสามารถของตัวเองก็สำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งหากมองดูแล้วไม่สามารถโตในองค์กรเดิมได้ หลายคนก็คงเลือกที่จะจากไปเพื่อหาโอกาสในการทำงานใหม่ ๆ

ดังนั้นบริษัทที่คนเปลี่ยนงานบ่อยให้ความสนใจ จึงน่าจะดีใจที่พวกเขาเลือกสมัครเข้ามา มาดูกันว่ามีเหตุผลอะไรที่ HR น่าจะลองพิจารณา

 

1. ปรับตัวง่าย

คนที่เปลี่ยนงานบ่อยๆ มักจะได้เจอกับคนมากหน้าหลายตา ได้เจอสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่ ๆ หรือวิธีการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย คนที่เปลี่ยนงานบ่อยจึงมักจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและงานใหม่ ๆ ได้เร็ว และเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพที่จะเรียนรู้งานและต่อยอดได้ไว

 

2. เป็นคลื่นลูกใหม่

เด็กรุ่นใหม่มักจะตั้งคำถามกับมาตรฐานเดิม ๆ ซึ่งช่วยทำให้องค์กรได้ตระหนักถึงปัญหาหรือสิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนภายใน เพราะ พนักงานที่ทำงานอยู่ในองค์กรเดิมที่เดียวนาน ๆ อาจเคยชินกับวัฒนธรรมหรือวิธีการทำงานแบบเดิมจนไม่รู้ว่ามีสิ่งใดที่ควรปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น

แต่สำหรับคนที่เคยทำงานมาหลายที่ พวกเขาจะมีแนวคิดและวิธีการทำงานที่แปลกใหม่และหลากหลาย สามารถตั้งคำถามหรือเปรียบเทียบการทำงานเพื่อหาหนทางที่ดีกว่าได้ เช่น ต้องใช้วิธีไหนจึงจะแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุด หรืออาจจะเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการถามถึงสิทธิของ LGBTQ หรือการเรียกร้องสวัสดิการใหม่ ๆ อย่าง การทำงานทางไกลจากบ้าน เป็นต้น


3. กล้าที่จะเสี่ยง

คนที่เปลี่ยนงานบ่อย ๆ นั้นแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นคนกล้าเสี่ยง ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง  และคนที่กล้าเสี่ยงมักกล้าเสนอแนวคิดใหม่ ๆ และแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น ทำให้พวกเขาสามารถคิดงานที่สร้างสรรค์ แปลกใหม่และแตกต่างได้


4. ช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้ 

เมื่อมีพนักงานเข้ามาใหม่ก็จะต้องมีการเรียนรู้งานใหม่ ซึ่งมีข้อดีตรงที่คนที่ทำงานมาก่อนก็จะต้องเป็นผู้สอนงานให้พนักงานที่พึ่งเข้ามาทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดการตื่นตัวในเรื่องการเรียนรู้ โดยเฉพาะบุคลากรระดับหัวหน้างานที่จะได้ฝึกทักษะการสอนงานและในขณะเดียวกันก็จะได้เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ด้วย ช่วยสร้างความหลากหลายในที่ทำงาน


 

การสรรหาคนรุ่นใหม่มาทำงานกับองค์กร

แม้ว่าผู้สมัครจะได้ชื่อว่าเป็น “Job Hopper” แต่หากผู้สมัครมีความสามารถที่จะทำงานให้องค์กรได้จริง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายองค์กรเอง สิ่งแรกที่ต้องทำเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้สนใจองค์กรก็คือ การเข้าใจและคิดให้เหมือนพวกเขา โดยเริ่มจากการเขียน Job Description ให้น่าสนใจ และต้องเขียนตามความเป็นจริงด้วย เพราะหากคุณกำลังมองหาคนรุ่นใหม่แต่เขียนว่าต้องการประสบการณ์การทำงาน 3 ปี ในด้านนี้ องค์กรก็จะพลาดคนเก่ง ๆ อย่างง่ายดาย ในขณะที่คนรุ่นใหม่ต้องการให้ความคิดของพวกเขาเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น Job Description ควรเขียนโดยให้แสดงออกว่าองค์กรกำลังต้องการตัวเขา และทำให้พวกเขาเห็นว่าเขามีโอกาสที่จะทำอะไรให้องค์กรบ้าง

วิธีที่สองสร้าง Employer Brand หรือแบรนด์บริษัทให้แข็งแกร่งเพราะแบรนด์บริษัทจะเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดผู้สมัครเก่ง ๆ ให้เข้ามา เหมือนกับการสร้างแบรนด์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้รู้สึกว่าของสิ่งนี้น่าซื้อ การสร้างแบรนด์บริษัทจึงการเป็นเครื่องมือในการสรรหาคนที่ได้ผลดี เพราะผู้สมัครจะรู้จักองค์กรตั้งแต่ก่อนเข้ามาแล้วว่าพวกเขาสามารถเติมเต็มอะไรให้กับบริษัทได้บ้าง

 

 

แล้วถ้าเข้ามาไม่นานก็ออกอีกล่ะ ?

เรื่องพนักงานลาออกนั้น เอาเข้าจริงก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีการเปลี่ยนงานเกิดขึ้น แต่ HR ควรจะต้องหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นเพราะเหตุใดพนักงานถึงลาออก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องคนในที่ทำงาน วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ตอบโจทย์ สวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปรับปรุงองค์กรและหล่อหลอมให้เกิด Employee Experience ที่ดีได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้คนเก่งที่มีความสามารถหยุดอยู่ที่คุณและมีความรู้สึกอยากทำงานกับองค์กรไปนาน ๆ

 

อย่างไรก็ตาม การจะเลือกคนเข้ามาทำงานก็ต้องดูเหตุผลประกอบหลาย ๆ อย่างด้วย โดยเริ่มจากการวางแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคลก่อนว่าเราต้องการคนเข้ามาทำงานในตำแหน่งอะไร วัฒนธรรมองค์กรตอนนี้เป็นอย่างไร และคนที่เรากำลังจะรับเข้ามานั้นเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของเราหรือไม่ เพราะการสรรหาคนก็คือการได้คนที่เก่งและตรงกับความต้องการของบริษัทให้มากที่สุด