Career advice | 15 January 2019

ใช้ชีวิตอย่างไร ให้ไม่ขัดต่อ “นาฬิกาชีวิต”

ทุกจังหวะในชีวิตของพวกเราล้วนผูกติดอยู่กับ “นาฬิกา” ไม่ว่าจะเป็นเสียงนาฬิกาปลุกในยามเช้า หรือนาฬิกาข้อมือที่คอยย้ำเตือนถึงมื้อเที่ยง ทว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่นาฬิกาในแบบฉบับของธรรมชาติ ร่างกายของพวกเราเลือกตอบสนองกับนาฬิกาที่เกิดมาพร้อมๆ กับการวิวัฒนาการของมนุษย์

 

นาฬิกาชีวิตทำงานอย่างไร?

ความลับของกลไกในนาฬิกาชีวิต คือยีนส์ที่สร้างโปรตีนที่ใช้ควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกายที่จะสลายไปเองในเวลาราว ๆ 24 ชั่วโมง ก่อนที่จะเริ่มสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง วนเวียนไปเรื่อย ๆ ซึ่งกระบวนการนี้เองที่ทำให้ร่างกายของเราทำงานสอดคล้องกับวัฏจักรกลางวัน-กลางคืน และกลไกนี้พบได้ในสิ่งมีชีวิตทั่วไปเช่นปลา นก แมลง ตลอดจนมนุษย์

 

นาฬิกาชีวิตของคุณทำงานได้ปกติไหม?

เราใช้ชีวิตอยู่ในวงจรของกลางวันและกลางคืนตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งนาฬิกาชีวภาพของพวกเราใช้แสงและความมืดเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงื่อนไขในการใช้ชีวิต เช่น เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดลง ร่างกายของเราจะเย็นลงเล็กน้อย ความดันโลหิตจะเริ่มต่ำลง ความสามารถในการคิดวิเคราะห์จะลดลงช้า ๆ และเราจะเริ่มอยากหย่อนตัวลงบนเตียงเพื่อนอนหลับในที่สุด ในขณะที่แสงอาทิตย์อ่อน ๆ ในช่วงเช้าจะทำให้ร่างกายเราได้ตื่นอย่างช้า ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิตไปกับวันใหม่  ผู้ที่ทำงานในช่วงกลางคืน อาจพบว่าพวกเขาไม่สามารถนอนหลับในเวลากลางวันได้แม้จะเหนื่อยล้าเพียงใดก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อถึงเวลากลางคืนที่พวกเขาต้องลุกขึ้นมาทำงาน เขาอาจจะพบว่าร่างกายและประสาทสัมผัสค่อย ๆ อ่อนล้าลงจนถึงขั้นหลับไปดื้อ ๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะนาฬิกาในตัวพวกเขาพยายามกระตุ้นร่างกายให้ตื่นในเวลากลางวันและหลับในเวลากลางคืน

 

ลดความเสี่ยงโรคต่างๆ “ด้วยการนอนที่เพียงพอ”

การรบกวนวงจรนาฬิกาชีวิตใน อาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อความสามารถในการจดจำ การแก้ปัญหา การตอบสนองทางอารมณ์ และการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ถ้าเราเลือกที่จะเมินเฉยต่อสัญญาณเหล่านั้นเป็นปี ๆ ก็ยิ่งจะทวีการส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคยอดนิยมอย่างโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ตลอดจนโรคอ้วน ซึ่งนอกจากโรคในทางกายภาพแล้ว การนอนผิดเวลา และพักผ่อนไม่เพียงพอ ยังส่งผลกระทบต่อระบบความจำ และเครียดได้ง่ายมากขึ้นยิ่งกว่าเดิมได้

กล่าวได้ว่าคุณภาพของการนอนเป็นเรื่องสำคัญ มนุษย์เราควรนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ นั้นหมายถึงการที่ร่างกายได้รับการซ่อมแซมฟื้นฟู ทำให้อวัยวะทำงานได้ดีขึ้น

ในผู้ที่จำเป็นต้องทำงานกลางคืน หากคุณไม่อยากป่วย สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือการหลับในช่วงกลางวันเพื่อทดแทน และหาเวลาออกกำลังกาย ตลอดจนรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เนื่องจากการอดนอนนั้นจะทำให้ภูมิต้านทานต่ำลงด้วยเช่นกัน