Career advice | 25 May 2018

เจอเพื่อนขี้แกล้ง...เอาคืนยังไงดี

การกลั่นแกล้งในที่ทำงานคือความน่ารำคาญรูปแบบหนึ่งของการทำงาน ซึ่งก็มีรูปแบบแตกต่างกันออกไป จากการให้ข้อมูลของ Lynne Curry ผู้เขียนหนังสือ  Beating the Workplace Bully: A Tactical Guide to Taking Charge.  อธิบายอย่างสั้นๆ ว่ารูปแบบการกลั่นแกล้งนั้นบางทีก็เกิดจากการเรียกชื่อที่เหยียดหยามเหมือนที่เราเคยเห็นตามภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ทั่วไป

เพื่อนร่วมงาน-ปัญหา-ที่ทำงาน-workventure

บางครั้งก็เกิดจากการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีมากลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์หรือที่เราเรียกว่า ‘Cyberbullies’ นั่นเอง ซึ่งบางครั้งก็มาในรูปแบบการซุบซิบนินทาแบบที่สังคมการทำงานแบบไทยนั้นคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เหตุการณ์แบบนี้จัดเป็นความน่ารำคาญที่บางครั้งก็มาจากเพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่หัวหน้าของคุณเอง

จริงๆ การกลั่นแกล้งในที่ทำงาน (Bully) เริ่มขยายตัวมากขึ้น จากข้อมูลสำรวจในปี 2017 จาก  Workplace Bullying and Trauma Institute (WBTI) ซึ่งคิดดูว่ามันหนักหนาแค่ไหนถึงต้องมีสำนักงานการทำสถิติการกลั่นแกล้งกันเกิดขึ้นโดยเฉพาะในประเทศอเมริกาซึ่งพบสถิติดังนี้

กว่า 60 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน

61% ที่คนทำงานรับรู้ว่าเกิดการกลั่นแกล้งกันในสถานที่ทำงาน

61% คือเปอร์เซ็นต์ที่การกลั่นแกล้งคนทำงานมาจากระดับหัวหน้า

กว่า 70 % ที่เป็นกลุ่มกลั่นแกล้งนั่นคือผู้ชายที่ชอบแกล้งผู้หญิง

ส่วนผู้หญิงที่ชอบแกล้งผู้หญิงด้วยกันก็มีสัดส่วนสูงถึง 80 % เลยทีเดียว

ความน่าเศร้าคือ มากกว่า 81% ที่นายจ้างรู้ว่าเกิดการกลั่นแกล้งขึ้นในที่ทำงานแต่ก็ไม่ได้ลงมือแก้ไขปัญหาดังกล่าวใดๆ เลย

พนักงานที่โดนกลั่นแกล้งแต่ไม่ได้ต่อล้อต่อเถียง เอาแต่เก็บตัวเงียบนั้นมีอัตราถึง 29 % เลยทีเดียว

กว่า 40 % ของพนักงานที่โดนกลั่นแกล้งนั่นมีปัญหาต่อสุขภาวะทั้งทางกายและใจ เช่น ความเครียด และวิตกกังวล เป็นต้น

เพื่อนร่วมงาน-ปัญหา-ที่ทำงาน-workventure

ชุดข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบต่อการกลั่นแกล้งในสถานที่ทำงานจากการเก็บข้อมูลโดยรวมในประเทศอเมริกา และเราเชื่อว่าในประเทศไทยของเราก็ยังมีเรื่องนี้เกิดขึ้นอยู่เช่นกัน

คุณป้า Susan M. Heathfield เป็นทั้งบล็อกเกอร์และนักเขียนที่ทำงานในตำแหน่ง HR ได้ออกมาแนะนำให้แก่คนทำงานหรือ HR ด้วยกันเองให้รู้จักวิธีรับมือกับพฤติกรรมการกลั่นแกล้งในที่ทำงานด้วยกันทำนองว่า หากเราโดนกลั่นแกล้งแล้วเราดันไปอดทนต่อพฤติกรรมอันเลวร้ายแบบนั้นมากๆ เท่ากับว่าเรายอมจำนนต่อการต่อเป็นเหยื่อของกลุ่มคนเหล่านั้น


ทางที่ดีเราควรตั้งขีดจำกัดของความอดทนเอาไว้ ถ้ามันเกินทนก็ให้พูดออกไปว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมันส่งผลอะไรต่องานที่ทำอยู่บ้าง ซึ่งเหตุผลนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะเรากำลังสอนความเป็นมืออาชีพในการทำงานให้แก่พวกที่ชอบแกล้งให้รู้เลยว่า แกมันอ่อนแอเกินไปที่จะรับผิดชอบงานได้แบบฉัน แถมป้าซูซานยังแนะอีกว่าให้บอกพวกเขาไปเลยว่าการกระทำแบบนี้ไม่ได้ส่งผลอะไรต่ออนาคตในการทำงานเลย


ในขณะที่ Lynne Curry ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกับป้า Susan เช่นกัน แต่มีเพิ่มเติมมาว่าให้คอยสังเกตและเก็บรายละเอียดด้วย "การจดบันทึกว่าสิ่งที่ถูกกระทำนั้นมีอะไรบ้าง" และมีเพื่อนร่วมงานเราคนไหนที่อยู่ในเหตุการณ์และพอเป็นพยานให้เราได้

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ Lynne Curry แนะนำเพื่อดัดหลังพวกขี้นินทาเราคือ "การหัดไปรายงานต่อฝ่ายบุคคลบ่อยๆ" โดยเลือกบุคคลที่คิดว่ามีอำนาจในการตัดสินใจหรือลงโทษต่อพวกขี้แกล้งเหล่านั้น เพื่อให้ฝ่ายบุคคลรับรู้สถานการณ์ไปพร้อมกับเราด้วยจะดีมาก

เอาเข้าจริงบางครั้ง ความอดทนของมนุษย์ก็มีขีดจำกัด หากกลั่นแกล้งจนเพื่อนร่วมงานไม่ไหวที่จะรับแล้ว เผลอๆ คนที่ชอบแกล้งอาจจะเจอวิธีจัดการด้วยกระบวนการแบบดิบๆ จากคนติ๋มๆ ที่คุณอาจไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้ เรื่องแบบนี้อย่าประมาทกันเชียว


อ้างอิง:

www.fastcompany.com

www.thebalance.com

www.workplacebullying.org


 

โอมศิริ-workventure