Career advice | 21 April 2025

เรื่องของเงินเดือน ที่พนักงานเงินเดือนต้องรู้

คุณรู้หรือไม่ ? ค่าตอบแทนที่ได้จากการทำงานในทุก ๆ เดือน ที่เราเรียกกันว่า “เงินเดือน” นั้นยังมีเรื่องราวมากมาย ที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนยังไม่เคยรู้มาก่อน เพราะนอกจากจำนวนเงินที่ถูกโอนเข้ามาภายในบัญชีของคุณแล้ว ยังมีสิทธิพิเศษอีกมากมาย รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเงินเดินที่คุณได้รับ ซึ่งเหล่าพนักงานกินเงินเดือนทุกคน ควรจะต้องรู้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของตนเอง บทความนี้เราได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาฝากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มาดูกันเลยว่าจะมีเรื่องอะไรที่คุณต้องรู้บ้าง

 

องค์ประกอบของเงินเดือนที่พนักงานควรรู้

สลิปเงินเดือน

สำหรับพนักงานที่อยู่ในองค์กรที่มีการจัดตั้งเป็น “บริษัท” แน่นอนว่าเงินเดือนที่คุณจะได้รับ ย่อมมาพร้อมกับ “สลิปเงินเดือน” ภายในสลิปเงินเดือนจะมีการแจกแจงว่า ภายในเดือนนั้น ๆ คุณได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานเป็นจำนวนเท่าไหร่ โดยจะมีในส่วนของ “เงินเดือนพื้นฐาน” ซึ่งจะเป็นฐานเงินเดือนที่คุณได้รับในทุก ๆ เดือนอยู่แล้ว และในส่วนของ “เงินเดือนร่วม” จะเป็นเงินเดือนสุทธิเมื่อรวมกับ รายรับเพิ่มเติมเช่น ค่าล่วงเวลา , ค่าคอมมิชชั่น หรือ ค่าตอบแทนต่าง ๆ ไปจนถึงค่าใช้จ่ายเช่น ภาษี ณ ที่จ่าย หรือ ค่าประกันสังคม เป็นต้น

  • วิธีการคำนวณค่าล่วงเวลาที่ควรรู้

ค่าล่วงเวลา (OT) จะมอบให้กับผู้ที่ทำงานเกินกว่าระยะเวลางานตามปกติ โดยจะให้ตามจำนวนเวลาคิดเป็น “รายชั่วโมง” หากเป็นการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดก็จะได้รับเพิ่มเป็นจำนวน 2 ถึง 3 เท่าจากเดิม ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กร ในส่วนของวิธีการคำนวณก็จะมีวิธีดังต่อไปนี้

“ เงินเดือน ÷ 30 วัน ÷ 8 ชม. = ค่าแรงต่อชั่วโมง ”

ตัวอย่างการคำนวณ

นาย A ทำงานล่วงเวลาในช่วงวันหยุด เป็นระยะเวลา 6 ชั่วโมง และได้ค่า OT เป็นจำนวน 2 เท่า โดยมีฐานเงินเดือนอยู่ที่ 24,000 บาท

  • ค่าแรงต่อชั่วโมง = ( เงินเดือน ÷ 30 ) ÷ 8
  • ค่าแรงต่อชั่วโมง = ( 24,000 ÷ 30 ) ÷ 8
  • ค่าแรงต่อชั่วโมง = 100
  • ค่าล่วงเวลา = ( ค่าแรงต่อชั่วโมง x ระยะเวลาการทำงาน ) x อัตราค่าทำงานล่วงเวลา
  • ค่าล่วงเวลา = ( 100 x 6 ) x 2
  • ค่าล่วงเวลา = 1,200 บาท ในวันทำงานนั้น ๆ 

 

การหักภาษี ณ ที่จ่าย และ การจ่ายประกันสังคม

เมื่อทำงานที่อยู่ในระบบองค์กร ในทุก ๆ เดือนจะมี 2 สิ่งที่จะต้องถูกหักออกจากเงินเดือนแบบเลี่ยงไม่ได้ คือ “ภาษี ณ ที่จ่าย” และ “ค่าประกันสังคม” เพื่อไม่ให้เกิดข้อสงสัย ว่าทำไมจะต้องถูกหัก มาทำความรู้จักกับทั้งคู่ให้มากขึ้น 

  • ภาษี ณ ที่จ่าย

ภาษี ณ ที่จ่าย เป็นการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล่วงหน้า จากเงินเดือนในทุก ๆ เดือน โดยจะมีการคำนวณโดยอิงกับระดับของเงินเดือน และ ค่าลดหย่อนต่าง ๆ เมื่อเหลือ “รายได้สุทธิ” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากเกินกว่า 150,000 จะเข้าข่ายการจ่ายภาษีทันที ในอัตราก้าวหน้าเริ่มต้นที่ 5% โดยรายได้สุทธิจะถูกนำมาหารด้วย 12 เพื่อให้เป็นจำนวนภาษี ณ ที่จ่ายซึ่งจะต้องถูกหักจากเงินเดือนในทุก ๆ เดือน ซึ่งเมื่อถึงเวลายื่นภาษี เงินที่ถูกหักไปจะเป็นหนึ่งในสิทธิ์ลดหย่อน หรือถ้าจำนวนเกินกว่าภาษีที่จะต้องเสียจริง ๆ ก็สามารถขอเงินภาษีส่วนที่เกินคืนได้

  • ค่าประกันสังคม

“ประกันสังคม” เป็นหนึ่งในรูปแบบกองทุน ที่ถูกออกแบบขึ้นมาสำหรับผู้ที่ทำงาน เป็นหลักประกันในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพ หรือ มีเหตุให้ต้องว่างงาน ในช่วงเวลาเหล่านั้น ก็จะทำเงินจากประกันสังคม มาเยียวยารักษา และ ชดเชยทดแทนรายได้ในช่วงเวลานั้น ๆ โดยมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ส่วนมากจะเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 จะต้องจ่ายเบี้ยประกันเดือนละ 5% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 750 บาท ต่อเดือน ตัวอย่างสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม เช่น ค่าทันตกรรม , ตรวจสุขภาพประจำปี , ค่ารักษาพยาบาล และ กรณีที่ว่างงานไม่มีรายได้ เป็นต้น

 

การอ่านและเข้าใจสลิปเงินเดือน

สลิปเงินเดือนคือเอกสารสำคัญ ที่ช่วยให้คุณสามารถขอสินเชื่อต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ในอนาคต ในปัจจุบันหลาย ๆ องค์กรก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้แบบ e-slip เป็น “สลิปเงินเดือนอิเล็กทรอนิกส์” กันแล้ว แต่ก็ยังพบเห็นสลิปเงินเดือนแบบคาร์บอนอยู่ทั่วไป โดยรายละเอียดภายในเอกสาร จะเป็นการชี้แจงถึงรายละเอียดของรายได้ในเดือนนั้น ๆ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ข้อมูลทั่วไปของพนักงาน ชื่อสกุล , ตำแหน่งงาน , เลขประจำตัวพนักงาน , วันที่ หรือ ชื่อแผนก เป็นต้น
  • รายรับในเดือนนั้น ๆ เช่น เงินเดือนพื้นฐาน , ค่าล่วงเวลา , โบนัส หรือ ค่าคอมมิชชั่น เป็นต้น
  • รายจ่ายที่ถูกหักในเดือนนั้น ๆ เช่น ภาษี ณ ที่จ่าย , ประกันสังคม , ค่าปรับ หรือ กองทุนเลี้ยงชีพ เป็นต้น
  • สรุปว่ามีรายรับรวมจำนวนกี่บาท มีรายจ่ายจำนวนกี่บาท คงเหลือเงินเดือนจำนวนกี่บาทในเดือนนั้น ๆ 

ระบบเงินเดือนแบบเดิม ที่มีความผิดพลาดในข้อมูลค่อนข้างสูง

คงจะเหลือน้อยแล้วสำหรับระบบการจ่ายเงินเดือนแบบเดิมๆ ที่ให้เงินสด หรือเงินโอน พร้อมสลิปกระดาษทุกๆ เดือน บางครั้งมีจำนวนเงิน หรือข้อมูลที่ผิดพลาด รวมถึงวันได้รับเงินเดือนที่คลาดเคลื่อน ไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งเป็นการทำงานที่ขึ้นอยู่กับฝ่าย HR เป็นหลัก หากมีการดำเนินงานที่มีคุณภาพ ก็จะทำให้คุณได้รับเงินเดือนที่รวดเร็ว แต่ถ้ามีการทำงานไม่ได้คุณภาพ ก็จะเจอกับความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้น ความผิดพลาดของรายละเอียดเงินเดือน และเมื่ออยากได้เอกสารอย่าง สลิปเงินเดือนย้อนหลัง ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากจนแทบจะหมดหวังกันเลยทีเดียว

ประโยชน์ของการใช้ระบบเงินเดือนออนไลน์ในมุมของพนักงาน

การจ่ายเงินเดือนในทุกวันนี้ สะดวกสบายมากกว่าแต่ก่อนหลายเท่า เนื่องจากมี “ระบบเงินเดือนออนไลน์” ที่สามารถทำผ่าน โปรแกรมเงินเดือนออนไลน์ ให้องค์กรได้ใช้บริการ ซึ่งจะมาในรูปแบบซอฟต์แวร์ด้านบัญชี ช่วยลดขั้นตอนการดำเนินการที่เคยยุ่งยาก ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ และในมุมของพนักงานก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะตัวโปรแกรมจะเข้ามาลดข้อผิดพลาดที่เกิดจาก Human Error, สะดวกรวดเร็ว, เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย, ส่งสลิปเงินเดือนผ่านอีเมลอัตโนมัติทางออนไลน์ พนักงานสามารถดาวน์โหลดเก็บไว้ได้ ไม่ต้องกลัวเอกสารหายอีกต่อไป

 

บทสรุป

แม้พนักงานจะไม่มีหน้าที่ในการคำนวณเงินเดือนของตนเอง แต่ก็สามารถรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับเงินเดือนที่ตนเองได้รับ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่พลาดรายละเอียดที่ผิดพลาดในการจ่ายเงินเดือน และ สิทธิประโยชน์ในด้านภาษี สุดท้ายนี้อย่าลืมเรื่องของการ “บริหารเงินเดือน” ควรมีการทำรายรับรายจ่ายอยู่เสมอ มีการวางแผนการเงินในระยะยาว ไม่ควรก่อหนี้สินโดยไม่จำเป็น เพียงเท่านี้คุณก็จะกลายเป็นหนึ่งคนที่มีวินัยทางการเงิน แม้อาจจะไม่มั่งคั่งในเร็ววันนี้ แต่รับรองได้เลยว่ามีเงินใช้อย่างมั่นคงมากขึ้นแน่นอน

 

close
Join WorkVenture for the newest job offers and company reviews