Career advice | 19 October 2022

ทำไมมนุษย์เงินเดือนควรรู้จักการต่อรอง

ในฐานะมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งที่อยู่ในโลกการทำงานมาจนมีประสบการณ์มากมาย มีข้อคิดหนึ่งที่ยึดมาจนถึงทุกวันนี้คือ "ต่อให้คุณเก่งในหน้าที่การงานมากแค่ไหน คุณอาจล้มไม่เป็นท่าได้ ถ้าไม่รู้จักการต่อรอง" 

ที่เขียนมาแบบนี้ไม่ได้สอนให้มนุษย์เงินเดือนทุกคนต่อรองเพื่ออู้งาน หรือปัดความรับผิดชอบแต่อย่างใด เพียงแต่อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการต่อรองมากขึ้น เมื่อหน้าที่และความรับผิดชอบมากขึ้นตามอายุและตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีและตรงต่อเวลา การบริหารจัดการทีมที่ต้องพาไปให้ถึงเป้าหมาย หรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากับลูกค้า ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ก็มาจากการต่อรองเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแบ่งประเภทการต่อรองได้เป็นดังนี้ 

 


 

1. ต่อรองกับตัวเอง

ข้อแรกของการต่อรอง ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อนเลย เพราะเป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้ดีที่สุด เช่น ต่อรองว่าวันนี้ต้องทำงานนี้ให้เสร็จไม่งั้นอดดูซีรี่ย์หลังเลิกงาน หรือถ้าทำงานสำคัญเสร็จแล้วควรไปหาอาหารอร่อย ๆ กิน เพื่อผ่อนคลายกับการทำงานหนักมาทั้งวัน กระบวนการแบบ Reward นี้ องค์กรอื่น ๆ ก็นิยมใช้กัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้พนักงานเกิดแรงจูงใจในการทำงาน แต่หากลองเอามาปรับใช้กับตัวเองดู ก็จะรู้สึกว่าได้ผลพอสมควรกับการต่อรองด้วยการให้รางวัลแก่ตัวเองหลังจากการทำงานหนัก  

 


 

2. ต่อรองกับลูกค้า

ในการทำงานเราต้องพบเจอลูกค้าหลายประเภท ลูกค้ามีทั้งแบบเข้าใจวัฒนธรรมในการทำงาน และแบบเอาแต่ใจ จนไม่มีใครอยากทำงานด้วย ซึ่งลูกค้าประเภทหลังนี้ ที่เราต้องมีวิชาการเจรจาในการแลกเปลี่ยน เช่น งานใกล้กำหนดส่งแล้ว แต่ดันเกิดปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถส่งตามเวลาได้แน่ ๆ  

ดังนั้น เราจึงต้องรีบแจ้งไปยังลูกค้าโดยทันที พร้อมกับหาเหตุผลในการเจรจาเพื่อไม่ให้เกิดคำถามถึงความรับผิดชอบด้านเวลา และคุณภาพในการทำงาน เราอาจบอกว่าขอใช้เวลาในการตรวจสอบงานให้ดีที่สุดอีกสักหน่อย เพื่อลดทอนการเสียเวลาในการกลับมาแก้ไขงาน เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่ซื้อเวลาด้วยการต่อรองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำจริงด้วยนะ เพราะค่าของคนยังอยู่ที่ผลของงานเสมอ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยจนกลายเป็นข้ออ้างแบบเลื่อนลอย และเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงาน  

 

 

3. ต่อรองกับเพื่อนร่วมงาน 

ส่วนใหญ่การทำงานในองค์กรหรือบริษัทขนาดกลางไปถึงใหญ่ แต่ละแผนกจะต้องมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกันอยู่เสมอ ฉะนั้น เพื่อนร่วมงานทั้งในและนอกแผนก จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่มนุษย์เงินเดือนควรให้ความสำคัญ และรู้จักวิธีต่อรองเพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แบบไม่เกิดผลเสียด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เช่น การขอให้ทีมอาร์ตไดเรกเตอร์ช่วยแก้ไขไฟล์อาร์ตเวิร์คให้ลูกค้าอย่างเร่งด่วน โดยที่ทีมอาร์ตได ฯ ยังติดงานอื่นอยู่ 

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เราต้องหาวิธีต่อรองเพื่อแก้ไขงานให้ทัน อาจเริ่มต้นที่วิธีง่าย ๆ คือการบอกเหตุผลว่า งานนี้สำคัญต่อบริษัทอย่างไร มีใครที่เป็นบุคคลสำคัญเกี่ยวข้องกับงานนี้บ้าง เพื่อให้หลาย ๆ คนรับรู้ถึงความสำคัญและความเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาจริง ๆ โดยวิธีการพูดและน้ำเสียงในการเข้าไปขอความช่วยเหลือ ควรมีความน่าฟังมากกว่าเชิงบังคับ และหลังจากงานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ก็อาจซื้อขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปฝากแทนคำขอบคุณอีกเพื่อสร้างพันธมิตรในระยะยาวได้เหมือนกัน

 


 
ทั้งหมดที่เขียนมานี้ล้วนมาจากประสบการณ์ในการทำงาน เพราะในบางครั้งการนำวิธีการต่อรองมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับการทำงาน ก็เป็นสิ่งที่สามารถช่วยลดปัญหาในการทำงานให้คุณได้ แต่ไม่ควรนำมาใช้เพื่อหาประโยชน์ส่วนตน หรือยึดเอาแต่ความสะดวก จนกลายเป็นนิสัยและความเคยชินที่ติดตัว เพราะสิ่งเหล่านี้อาจสร้างปัญหาในการทำงานระยะยาวได้